เกาะลันตาน้อย เป็นเกาะที่เป็นชุมชนของชาวเกาะลันตาในอดีตมาก่อน มีที่ว่าการอำเภอ มีโรงเรียนวิถีชีวิตแบบเก่าๆ บ้านเรือนโบราณยังมีให้พบเห็น
เกาะลันตาใหญ่ มีรูปร่างยาวเรียวจากเหนือมาใต้ ศูนย์กลางธุรกิจของเกาะอยู่ที่บริเวณท่าเรือศาลาด่าน ซึ่งมีทั้งบริการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ธนาคาร ด้านตะวันตกเรียงรายไปด้วยชายหาดและอ่าวที่สวยงามมากมาย ได้แก่ หาดคอกวาง หาดโละบารา อ่าวพระแอะ หาดคลองโขง หาดคลองนิน และมีถนนตัดจากท่าเรือตอนเหนือผ่านชายหาดต่างๆ ไปจนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ซึ่งอยู่ตอนใต้สุดของเกาะ พื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะมีสภาพเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน ปกคลุมด้วยป่าที่สมบูรณ์ ส่วนด้านตะวันออกมีชุมชนเก่าของเกาะลันตา เนื่องจากเคยเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอมาก่อน ซึ่งย้ายไปอยู่ที่เกาะลันตาน้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่บนเกาะลันตานับถือศาสนาอิสลาม และที่บ้านสังกะอู้ยังมีชนพื้นเมืองที่ยังคงยึดถือวัฒนธรรมประเพณี ได้แก่ ประเพณีลอยเรือ
ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตามีจุดชมวิว แหลมโตนด ซึ่งเป็นที่ตั้งของประภาคาร จากมุมนี้สามารถมองเห็นโค้งอ่าวกรวด และอ่าวหาดทรายขาวสะอาดมาบรรจบกัน ตอนปลายสุดของแหลมเป็นที่ตั้งของเกาะหม้อ เป็นจุดดำดูปะการังน้ำลึก นอกจากจุดชมวิวแหลมโตนดแล้ว ยังมีจุดชมวิวบนยอดเขาบริเวณตอนกลางเกาะที่มีร้านอาหารสามารถนั่งรับประทาน อาหารพร้อมกับชมทิวทัศน์ของทะเลอันดามันที่มีเกาะต่างๆ อยู่ท่ามกลางผืนน้ำสีน้ำเงินบนเกาะลันตาใหญ่มีที่พักเอกชนเปิดให้บริการมากมาย ฤดูท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม
ทุ่งหยีเพ็ง หมู่บ้านเล็กกลางเกาะใหญ่
ที่นี่เป็นชุมชนชาวมุสลิมเล็กๆในเกาะลันตา เป็นชุมชนที่มีป่าเป็นของชุมชน ถือได้ว่าเป็นป่าชายเลนที่หล่อเลี้ยง วิถีชีวิต คนในชุมชนมาช้านานและธรรมชาติป่าชายเลนนี่แหละที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของ คนสัตว์และป่าที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว การท่องเที่ยวในชุมชมนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่ายๆสบายๆ ที่เข้าถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ และมีความสอดคล้องกับวิถีความเป็นชนชาติมุสลิมบนเกาะลันตา โดยเป็นศูนย์เรียนรู้ การดำเนินชีวิตของชาวบ้านให้นักท่องเที่ยวที่สนใจ เรื่องต่างๆเข้ามาศึกษา และชมป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้
ใครสนใจไปเที่ยวชม มีกิจกรรมเยอะใช้ได้เลย
– นั่งเรือพาย เที่ยวชมอุโมงป่าโกงกาง
– นั่งเรือหางยาวชมป่าโกงกางและปากน้ำลันตา
– ดูวิธีการทำกะปิ
– นั่งเรือชมวิถีชีวิตการหาปลาของชาวบ้าน
– พายเรือคายัค